หน้าฝน! ป้องกันสารพิษปนเปื้อน แยกขยะเพื่อคุณ เพื่อสิ่งแวดล้อม
วันจันทร์ที่ 15 กรกฏาคม 2024 เวลา 11:34 น.
เขียนโดย กองสาธารณสุขฯ


อย่างที่ทุกคนทราบกันดี สาเหตุหลักๆ ของปัญหาน้ำท่วมส่วนหนึ่งก็คือ “ขยะ” ไม่ว่าจะเป็นขยะตามท้องถนน ขยะที่ทิ้งลงคลอง ขยะที่ทิ้งไปทั่วไม่ลงถัง ขยะพวกนี้เวลาที่ฝนตกก็จะถูกพัด ไปอุดตันตามท่อทำให้เกิดน้ำท่วมขัง รวมถึงไหลลงสู่แหล่งน้ำและระบบนิเวศต่างๆ
เราทุกคนจึงต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือแยกและทิ้งขยะให้ถูกที่

ขยะอินทรีย์ เป็นขยะที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เช่น เศษอาหาร เปลือกผลไม้ ใบไม้ นำไปทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ได้

ขยะรีไซเคิล เป็นขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก โลหะ ควรแยกและนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิล

ขยะทั่วไป เป็นขยะที่ย่อยสลายยาก แต่ไม่มีสารอันตราย เช่น ถุงพลาสติก ถุงหรือกล่องขนมควรทิ้งในถังขยะทั่วไป

ขยะอันตราย เป็นขยะที่มีสารอันตราย เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ควรแยกทิ้งต่างหากจากขยะประเภทอื่น นำไปทิ้งในจุดรับขยะอันตรายที่กำหนด
การแยกขยะเป็นสิ่งที่เราควรทำทุกวัน และที่สำคัญในช่วงหน้าฝน จะเป็นช่วงที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายเป็นมลพิษสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ดังนี้


มลพิษทางน้ำ
-น้ำฝนชะล้างขยะลงสู่แหล่งน้ำ ก่อให้เกิดน้ำเน่าเสีย
-สารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และระบบนิเวศ


มลพิษทางดิน
- น้ำท่วมขังชะล้างขยะปนเปื้อนลงสู่ดิน
- สารเคมีจากขยะปนเปื้อนดิน ส่งผลต่อพืชผลทางการเกษตร

มลพิษทางอากาศ
- ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน
- ขยะอาหารย่อยสลาย เกิดก๊าซมีเทน เป็นก๊าซเรือนกระจก ตัวการของภาวะโลกร้อน


ผลกระทบต่อสุขภาพ
หากทิ้งและจัดเก็บขยะไม่ถูกวิธี จะก่อให้เกิดเป็นแหล่งเชื้อโรค อีกทั้งขยะอันตราย จะเป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง อาจเกิดอาการผิวหนังไหม้ ระบบทางเดินอาหาร และอาจถึงเสียชีวิตได้