วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2024 เวลา 15:20 น.
เขียนโดย กองสาธารณสุขฯ

ปะการังเปรียบเสมือนบ้านใต้น้ำที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลตัวน้อย แต่เนื่องจากปะการังเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนไหวเป็นอย่างมาก และผลพวงจากภาวะโลกร้อน อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลเพียง 1 – 2 องศาเซลเซียส ภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ สามารถทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาวขึ้นได้ และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล เป็นห่วงโซ่ ดังนี้
1. สูญเสียแหล่งอาหาร
เมื่อสภาพแวดล้อมในมหาสมุทรเปลี่ยนแปลงไป สาหร่ายซูแซนเทลลีจะอพยพออกจากเนื้อเยื่อของปะการัง เพื่อแสวงหาสภาพแวดล้อมใหม่ให้มีชีวิตรอด ทำให้ปะการังสูญเสียแหล่งอาหารสำคัญ และเหลือเพียงโครงสร้างหินปูนสีขาว ปะการังส่วนใหญ่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในภาวะฟอกขาวได้ราว 2 – 3 เดือน แต่ถ้าเกิดระยะเวลายาวนานหลายเดือน ปะการังจะอ่อนแอลงและตายไปในที่สุด
2. สูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย
ปะการังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิดส่งผลให้สัตว์ทะเลสูญเสียที่อยู่อาศัยบางชนิดต้องอพยพไปยังแหล่งอื่น หรือตายลง
3. สูญเสียแหล่งอนุบาล
ปะการังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลวัยอ่อนตายส่งผลต่อการเจริญเติบโต และการสืบพันธุ์ของสัตว์ทะเล
4. ส่งผลต่อห่วงโซ่อาหาร
การสูญเสียแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และแหล่งอนุบาล ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร
สัตว์ทะเลบางชนิดอาจสูญพันธุ์ ส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลโดยรวม
5. ส่งผลต่อเศรษฐกิจ
ปะการังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ ส่งผลต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยว
ประชาชนที่พึ่งพาอาชีพประมง สูญเสียรายได้
???????? ตัวอย่างปะการังฟอกขาว

ย้อนรอย...ปะการังฟอกขาว ปี พ.ศ.2553 อุณหภูมิน้ำทะเลจากปกติ 29 องศาเซลเซียสได้เริ่มสูงขึ้นเป็น 30 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2553 สามสัปดาห์ต่อมาปะการัง ได้เริ่มฟอกขาวเป็นวงกว้างคลุมทะเลทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย

เมื่อกลางเดือนเมษายน 2567 เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวระดับโลกครั้งที่ 4 และเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NOAA ได้เปิดเผยผลการสำรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทรและแนวปะการังทั่วโลกช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2567 พบว่าเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวแผ่ขยายเป็นวงกว้างในทะเลและมหาสมุทรทั่วทั้งเขตร้อน ทั้งในมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย รวมไปถึงทะเลแคริบเบียน ทะแลแดง อ่าวเปอร์เซีย อ่าวเอเดน ไม่เว้นแม้แต่แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Great Barrier Reef ของออสเตรเลีย
.

เราสามารถที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการฟอกขาวปะการัง ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นวิธีที่สำคัญที่สุด เพื่อรักษาอุณหภูมิโลก ลดการปล่อยมลพิษ และใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน หลีกเลี่ยงการทำลายแนวปะการัง เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล
.
"ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน"