วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2024 เวลา 13:05 น.
เขียนโดย กองสาธารณสุขฯ
การใช้แนวทางธรรมชาติเพื่อรับมือกับสภาวะโลกเดือด
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือสภาวะโลกเดือดที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง เป็นภัยคุกคามที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งสาเหตุของปัญหาเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเกินกว่าศักยภาพของระบบนิเวศจะรับไหว
นอกจากจะเป็นการเพิ่มภาระต่อทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังก่อให้เกิดมลพิษต่าง ๆ ที่ตามมาอีกด้วย จะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การวางแผนและกำหนดนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากยิ่งขึ้น การลงทุนที่คำนึงถึงการใช้ต้นทุนทางธรรมชาติหรือการให้บริการของระบบนิเวศอย่างเหมาะสม นอกจากจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังเป็นแนวทางที่รบกวนกระบวนการทางธรรมชาติและระบบนิเวศน้อยที่สุด
การแก้ไขและรับมือกับสภาวะโลกเดือด ด้วยการใช้แนวทางธรรมชาติ หรือ Nature-based solutions (NbS) ตามคำนิยามจากการประชุมใหญ่สมัชชาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก (World Conservation Congress) เมื่อปี พ.ศ. 2559 คือ “การดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการ ปกป้อง และฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถจัดการกับความท้าทายทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและปรับให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ ควบคู่กับการคงไว้ซึ่งประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ” (IUCN 2016) ปัจจุบัน NbS ถูกนำมาปรับใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น
• การแก้ปัญหาน้ำท่วมและรับมือกับภาวะน้ำแล้ง ด้วยการฟื้นฟูแม่น้ำ ลำคลอง ขุดลอกตะกอน
ที่ขวางแหล่งน้ำทะเลสาปรูปแอกกับแม่น้ำ ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมการทำงานของแม่น้ำให้มีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนและกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง
• การป้องกันชายฝั่ง ด้วยการสร้างแนวกันชนชายฝั่งจากธรรมชาติเพื่อป้องกันผลกระทบจากภัยพิบัติ เช่น ป่าชายเลน หนองน้ำเค็ม หญ้าทะเล แนวปะการัง และหาดโคลน ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนแล้ว พื้นที่เหล่านี้ยังลดทอนความรุนแรงจากการโจมตีของคลื่น ดักตะกอน และปกป้องการกัดเซาะชายฝั่งและโครงสร้างพื้นฐานบริเวณชายฝั่ง ตลอดจนยังเป็นแหล่ง blue carbon ชั้นดีที่จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย
• การแก้ปัญหาในบริบทของเมือง คือ การลดเกาะความร้อนหรือเกาะความร้อนเมือง (Urban heat island : UHI) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พื้นที่สังคมเมืองมีอุณหภูมิและมลพิษทางสิ่งแวดล้อมสูงกว่าบริเวณโดยรอบ ด้วยการเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียว ปรับปรุงภูมิทัศน์ ซึ่งนอกจากจะช่วยดูดซับความร้อนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยังมีส่วนช่วยซับปริมาณน้ำฝนและป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เมืองอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย NbS ได้ถูกนำมาใช้ผ่านวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนไทยมาอย่างช้านาน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกหญ้าแฝกเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรดินและป้องกันการพังทะลายของตลิ่ง การปลูกไม้ไผ่
เพื่อบรรเทาความรุนแรงของลมพายุ หรือการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น เป็นต้น อีกทั้งในระดับนโยบายได้มีการบูรณาการ NbS ในแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAP) ในสาขาการจัดการทรัพยากรน้ำ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวสำหรับการจัดการทรัพยากรน้ำที่พร้อมรับมือกับสภาพภูมิอากาศ และสาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ ลดการบุกรุกทำลายป่า และส่งเสริมให้มีการเกษตรที่เกื้อกูลกับระบบนิเวศป่าไม้
จะเห็นได้ว่า NbS ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยรับมือกับสภาวะโลกเดือด ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสมและคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์สืบไป
ที่มา:
"ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน"